วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560

ดอกพุทธรักษา


ดอกพุทธรักษา
ดอกพุทธรักษา
ดอกพุทธรักษา ดอกไม้วันพ่อ ดอกไม้สัญลักษณ์วันพ่อแห่งชาติไทย
ชื่อพื้นเมือง  :  พุทธรักษา
ชื่อวิทยาศาสตร์   :  Canna indica L.
ชื่อวงศ์  :  CANNACEAE
ถิ่นกำเนิด  :  หมู่เกาะฮาวาย

ลักษณะทั่วไปของดอกพุทธรักษา ดอกไม้วันพ่อ

     พุทธรักษาเป็นพรรณไม้ล้มลุก เนื้ออ่อนอวบน้ำ ลำต้นมีความสูงประมาณ 1-2 เมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า มีการเจริญเติบโตโดยแตกหน่อเป็นกอคล้ายกับกล้วย ลักษณะหน่อที่เจริญเป็นต้นเหนือพื้นดินนั้นมีลักษณะกลมแบนสีเขียวขนาดลำต้นโตประมาณ 2-4 เซนติเมตร ใบมีขนาดใหญ่สีเขียวโคนใบและปลายใบรีแหลม ขอบใบเรียบ กลางใบเป็นเส้นนูนเห็นได้ชัดโคนใบมีก้านใบซึ้งยาวเป็นกาบใบหุ้มลำต้นซ้อนสลับกัน ขนาดใบกว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25-35 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอก 8-10 ดอก และมีกลีบดอกบางนิ่ม ขนาดของดอกและสีสันแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันพ่อแห่งชาติ กำหนดขึ้นครั้งแรก ในปี 2523 และกำหนดให้ดอกพุทธรักษาสีเหลือง เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อ
ดอกพุทธรักษา
ดอกพุทธรักษา ดอกไม้สัญลักษณ์วันพ่อแห่งชาติไทย

ความเป็นมาของดอกพุทธรักษา

     ดอกพุทธรักษาเป็นไม้ในเขตร้อนตามบันทึกถูกพบครั้งแรกในหมู่เกาะเวสอินดี้ และแถบอเมริกาใต้ จะพบได้ทั้งในที่ลุ่มและที่ดอนในเขตต่างๆอย่างไรก็ตามไม้นี้ถูกนำมาพัฒนา เป็นไม้ประดับและขยายพันธุ์ให้ดีขึ้นโดยชาวยุโรปในช่วงเวลาหลายปีนั้นต้นไม้ ได้มีการปรับตัวให้ทนกับทุกสภาพอากาศในประเทศต่างๆแม้ว่าสภาพอากาศในเขตที่ หนาวจัดเป็นอุปสรรคในการปลูกแต่ถ้าสามารถเข้าใจวงจรการเจริญเติบโตของมัน แล้วการใช้เทคนิคต่างๆ ก็สามารถชนะธรรมชาติได้ในที่สุด

     ถ้าเราย้อนหลัง ไปในอดีตสักร้อยปี จะพบว่าดอกพุทธรักษาเป็นไม้ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและถูกนำมาปลูกอย่าง แพร่หลายในสวนทั้งขนาดเล็กและใหญ่ หลังจากนั้นไม่นานความนิยมก็ลดลงแต่ก็ฟื้นกลับมาอีกจนกระทั่งถึงปัจจุบัน พุทธรักษาเป็นไม้ดอกระดับนานาชาติโดยหลายๆประเทศยอมรับให้เป็นไม้หลักในการตกแต่งสถานที่ที่สำคัญๆ ลักษณะช่อดอกที่หลากสีสร้างความเร้าใจให้กับนักจัดสวนยุคใหม่ที่เน้นไม้ที่ ปลูกง่ายและสวยงามอยู่เสมอ

     ชื่อไทยของดอกพุทธรักษานั้นไม่มีการบันทึกว่าตั้งโดยผู้ใดแต่เป็นชื่อที่ไพเราะมีความหมาย ดอกพุทธรักษาเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนวันพ่อ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนาม แปลว่า พระพุทธเจ้าคอยปกป้องคุ้มครอง เหมาะกับวัฒนธรรมของบ้านเราที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติที่ชาวพุทธทุกคนควรปกป้องและรักษาไว้ แต่ชื่อสากลที่เรียกว่า แคนนาส์ (Cannas) มาจากศัพท์ของภาษากรีกที่เขียนเป็นอังกฤษว่า (Kanna) ที่หมายถึง ต้นไม้ที่มีลักษณะคล้ายต้นอ้อ มีการเรียกไม้นี้ในต่างประเทศอย่างหลากหลาย อาทิเช่น แคนนา ลิลี่ (Canna lily) อินเดียนช็อตแพล้น (Indian short plant) ฯลฯ ในประเทศสเปน ชาวบ้านนำเมล็ดที่กลมแข็งสีดำมาใช้ทำลูกปัด เครื่องดนตรีที่เรียกว่า โฮชา (Hosha) ของชาวซีมบาเว ที่ใช้ในการเขย่านั้นใช้เมล็ดพุทธรักษาเป็นส่วนประกอบ
ดอกพุทธรักษา
ดอกพุทธรักษา ดอกไม้สัญลักษณ์วันพ่อแห่งชาติไทย

ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก

      เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นพุทธรักษาไว้ทางทิศตะวันตก ผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาประโยชน์ทั่วไปทางดอกให้ปลูกในวันพุธ

การปลูกพุทธรักษานิยมปลูก 2 วิธี

     1. การปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ถ้าปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ควรใช้แปลงปลูกขนาด 2 x 10 เมตร โดยการยกร่องคล้ายแปลงปลูกผัก การเตรียมดินใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 10-20 กิโลกรัม/แปลง ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x30 แต่ถ้าปลูกเพื่อประดับบ้าน คนไทยโบราณนิยมปลูกไว้เป็นแนวรั้วบ้านหรือปลูกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในพื้นที่ที่จำกัด ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x 30 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 1 ผสมดินปลูก

     2. การปลูกในกระถางเพื่อประดับอาคารบ้านเรือน ส่วนใหญ่ใช้เป็นดอกประดับภายนอก ควรใช้กระถางทรงสูง ขนาด 10-16 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก:แกลบผุ:ดินร่วนอัตรา1:1:1ผสมดินปลูกและควร เปลี่ยนกระถาง12ครั้งต่อปีเพราะการขยายตัวของหน่อแน่นเกินไป และเพื่อเปลี่ยนดินปลูกใหม่ แทนดินปลูกเดิมที่เสื่อมสภาพไป

การดูแลรักษาพุทธรักษา

แสง : ชอบแสงรำไร หรือแสงแดดจัดกลางแจ้ง

น้ำ : ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 3-5 วัน/ ครั้ง

ดิน : เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย

ปุ๋ย : ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/กอ ปีละประมาณ 4-6 ครั้ง
ดอกพุทธรักษา
ดอกพุทธรักษา ดอกไม้สัญลักษณ์วันพ่อแห่งชาติไทย

การขยายพันธุ์ 

นิยมขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ เพาะเมล็ด

วิธีที่นิยมและได้ผลดี การแยกหน่อ

โรคและแมลง ไม่ค่อยมีโรคที่ เป็นปัญหา ส่วนแมลงที่รบกวน ได้แก่ พวกเพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอย ซึ่งจะพบมากในหน้าร้อน

การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วย มาลาไธออนหรือไดอาซินอนถ้าหากกอมีขนาดใหญ่และทึบอาจใช้ยาดูดซึม จำพวกไซกอน ละลายน้ำรด ตามอัตราที่ระบุไว้ในฉลากก็ได้

สรรพคุณของดอกพุทธรักษา

     ในประเทศปาปัวนิวกินีกินหัวต้นพุทธรักษาเป็นอาหารหลักเหมือนหัวเผือกหัวมัน ของไทยเราสมัยโบราณนำหัวต้มรับประทานบำรุงปอด แก้อาเจียนหรือไอเป็นเลือด บางครั้งนำดอกมาใช้ห้ามเลือด รักษาแผลที่มีหนอง เมล็ดบดพอกแก้ปวดศรีษะ ส่วนพันธุ์พุทธรักษาปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันในสรรพคุณ จึงขอแนะนำว่าอย่าพึ่งไปลองกิน ควรใช้ทดลองตามสรรพคุณแต่ภายนอกร่างกายจะดีกว่า
ดอกพุทธรักษา
ดอกพุทธรักษา ดอกไม้สัญลักษณ์วันพ่อแห่งชาติไทย

ประโยชน์ในลักษณะไม้ประดับ

     ประวัติการปลูกต้นพุทธรักษาในประเทศไทยมีมานานเกือบ 200 ปีมาแล้ว ปัจจุบันพุทธรักษาถูกนำมาปลูกใหม่อย่างกว้างขวาง จำได้ว่าครั้งแรกที่ตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับพุทธรักษาคือเมื่อผ่านไปเขตบางแค สัก 10 กว่าปีมาแล้วสองข้างทางต้นพุทธรักษาขึ้นเต็มสวยงามขนาดที่ว่าทำให้เขตนี้ได้ รับรางวัล ระดับเขตจากการปลูกไม้ประดับประเภทนี้กันทีเดียว ต่อมาเมื่อขึ้นไปเที่ยวเชียงรายไปถนนสายแม่จันสองข้างทางต่างปลูกพุทธรักษา กันอีก ชมรมแม่บ้านแถบนี้เริ่มมีอาชีพใหม่จากการขายหน่อต้นพุทธรักษา ราคาหน่อละ 5 บาท

     พุทธรักษา เป็นไม้ที่หาเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ อยู่ในที่น้ำท่วมหรือที่แห้งแล้งก็ได้ เพียงแต่ถ้าที่แห้งลักษณะต้นจะเล็กและดูเหมือนต้นไม่สมบูรณ์ สวยงามเท่าต้นที่อยู่ในพื้นที่แฉะชื้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นว่าพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยรอบที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่า กรุงเทพมหานครจะนำเอาต้นพุทธรักษามาลงปลูกเป็นแถวเป็นแนว บังกอหญ้ารกๆให้พ้นจากสายตาคนที่สัญจรไปมา เนื่องจากพุทธรักษาเป็นไม้ที่เมื่อลงปลูกแล้ว ไม่ต้องไปสนใจก็สามารถงอกงามให้ดอกสีสวยจับตาผู้คนที่ผ่านไปได้ดี โดยถ้าลงมือปลูกช่วงหน้าฝนด้วยแล้ว ไม่ต้องไปรดน้ำให้แตกหน่อแตกขยายพุ่มเพราะความที่สามารถหาน้ำและอาหาร กินได้เอง ที่ริมถนน ทุ่งวัชพืชจึงค่อยๆแปรสภาพกลายเป็นทุ่งพุทธรักษา มาบดบังสายตากันเกือบหมดแล้ว

     ดังนั้นถ้าใคร มีที่ปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ และไม่มีเวลาดูแล การปลูกพุทธรักษาให้เต็มพื้นที่หรือปลูกหน้าที่ให้บังที่ด้านใน กันคนมาทิ้งขยะหน้าที่ของเรา การปลูกพุทธรักษา จึงดูเหมือนเป็นทางเลือกที่ดีวิธีหนึ่งเหมือนกัน

      พุทธรักษาถ้า ปลูกแบบดูแลดีๆคือเมื่อต้นออกดอกแล้วให้ตัดต้นทิ้ง หน่อจะแทงขึ้นต้นใหม่ออกดอกใหม่ไปเรื่อยๆ จะทำให้กอพุทธรักษาดูสวยงามน่ามอง ถ้าจะดูตัวอย่างการดูแลปลูกต้นพุทธรักษาดีๆ ให้แวะไปดูได้ที่หน้าโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จะพบแนวต้นพุทธรักษาปลูกเป็นแถวตรงเกาะกลางถนนหน้าโรงเรียน
ดอกพุทธรักษา
ดอกพุทธรักษา ดอกไม้สัญลักษณ์วันพ่อแห่งชาติไทย

ความเชื่อเกี่ยวกับพุทธรักษา

     คนโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นพุทธรักษาไว้ประจำบ้านจะช่วยคุ้มครอง ป้องกันอันตรายแก่บ้านและผู้อาศัยได้ เพราะพุทธรักษาเป็นพรรณไม้ที่คนโบราณเชื่อว่า มีพระเจ้าคุ้มครองรักษาให้มีความสงบสุข คือเป็นไม้มงคลนั่นเอง

     ดอกพุทธรักษาสีเหลืองยังเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของวันพ่อ ลูกจะนำดอกพุทธรักษานี้มอบให้พ่อในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี อันแสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นมงคลของไม้ชนิดนี้

ดอกราชพฤกษ์


ดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติไทย

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            ดอกไม้ประจำชาติไทย คือ ดอกราชพฤกษ์ (Golden shower) หรือ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของ ดอกราชพฤกษ์ คือ Cassia fistula

           ดอกไม้สีเหลืองอร่ามที่มักพบเห็นได้ทั่วไปตามริมถนนสายต่าง ๆ คือสีสันของ ดอกราชพฤกษ์ หรือ ดอกคูน ต้นไม้มงคลที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ดอกไม้ประจำชาติไทย ทั้งยังเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่ปลูกไว้แล้วจะเสริมให้คนในบ้านมีเกียรติยศชื่อเสียงมากขึ้นด้วย ยิ่งใกล้เข้าสู่เวลาแห่งการเปิดประตูต้อนรับเพื่อนบ้านอาเซียนกันแล้ว ในวันนี้กระปุกดอทคอมจึงขอนำข้อมูลเกี่ยวกับดอกไม้ประจำชาติไทยอย่าง ดอกราชพฤกษ์ มาให้ทำความรู้จักกันจ้า

ประวัติดอกราชพฤกษ์

           ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูน เป็นต้นไม้พื้นเมืองของเอเชียใต้ ตั้งแต่ปากีสถาน อินเดีย พม่า และศรีลังกา โดยนิยมปลูกกันมากในเขตร้อน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้ง และเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมาหลายสิบปี โดยมีการเสนอให้ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัด จนกระทั่งมีการลงนามให้เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2544

ดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติไทย

ดอกไม้ประจำชาติไทย

           เนื่องจาก ต้นราชพฤกษ์ ออกดอกสีเหลืองชูช่อ ดูสง่างาม อีกทั้งยังมีสีตรงกับ สีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงถูกตั้งชื่อว่าเป็น "ต้นไม้ของในหลวง" และมีการลงนามให้ต้นราชพฤกษ์ เป็นหนึ่งใน 3 สัญลักษณ์ประจำชาติไทย โดยมี 1. ช้าง เป็นสัตว์ประจำชาติไทย 2. ศาลาไทย เป็นสถาปัตยกรรมประจำชาติไทย และ 3. ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย

เหตุผลเลือกเป็นดอกไม้ประจำชาติไทย

           1. เนื่องจากเป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และมีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย

           2. มีประวัติเกี่ยวข้องกับประเพณีสำคัญ ๆ ในไทยและเป็นต้นไม้มงคลที่นิยมปลูก

           3. ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้เป็นยารักษาโรค อีกทั้งยังใช้ลำต้นเป็นเสาเรือนได้ เป็นต้น

           4. มีสีเหลืองอร่าม พุ่มงามเต็มต้น เปรียบเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา

           5. มีอายุยืนนาน และทนทาน


ดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติไทย

ลักษณะทั่วไป

           เป็นต้นไม้ขนาดกลาง สูงประมาณ 10-20 เมตร ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองอร่าม แต่ละช่อยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร โดยกลีบดอกจะเป็นสีเหลือง 5 กลีบ มีผลยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร มีกลิ่นฉุน และมีเมล็ดที่เป็นพิษ

การปลูกดอกราชพฤกษ์

           นิยมปลูกด้วยเมล็ด โดยจะมีการเจริญเติบโตช้าในช่วง 1-3 ปีแรก แต่หลังจากนั้นจะมีการเติบโตเร็วขึ้น และออกดอกตอนอายุประมาณ 4-5 ปี

การดูแลรักษา

           แสง : ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง และเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้งเป็นพิเศษ

           น้ำ : ชอบน้ำน้อย ควรรดน้ำ 7-10 วันต่อครั้ง สามารถทนกับสภาพอากาศร้อนได้ดี

           ดิน : สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย หรือดินเหนียว

           ปุ๋ย : นิยมใส่ปุ๋ยหมัก หรือ ปุ๋ยคอก ในอัตรา 2-3 กิโลกรัมต่อต้น และควรให้ปุ๋ยปีละ 3-4 ครั้ง

ดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติไทย


การขยายพันธุ์


           วิธีขยายพันธุ์ต้นราชพฤกษ์ที่นิยม คือ การเพาะเมล็ด โดยใช้เมล็ดสด ๆ มาขลิบด้วยกรรไกรตัดเล็บ แต่ต้องเลือกขลิบบริเวณด้านป้าน เพราะด้านแหลมจะมีต้นอ่อนอยู่ จากนั้นนำไปแช่น้ำสะอาดทิ้งไว้ข้ามวัน จึงค่อยเทน้ำออกให้เหลือปริมาณพอหล่อเลี้ยงเมล็ดได้ จากนั้นทิ้งไว้อีกคืนก็จะพบรากงอก และสามารถนำลงปลูกได้เลย
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นราชพฤกษ์

           เชื่อว่าเป็นต้นไม้มงคล ที่ควรปลูกไว้ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ และหากปลูกไว้ในบ้านจะช่วยให้มีเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางไสยศาสตร์ โดยใช้ใบทำน้ำพระพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ เนื่องจากเป็นไม้มงคลนาม

          และนี่คือข้อมูลเกี่ยวกับ ดอกราชพฤกษ์ เมื่อได้รู้จักกับข้อมูลของ ดอกไม้ประจำชาติไทย กันไปแล้ว ก่อนจะเปิด AEC หากมีโอกาสได้พูดคุยกับชาวต่างชาติจะได้อธิบายให้เขาฟังถึงที่มาที่ไปได้นะคะ

วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560

ดอกกุหลาบ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ดอกไม้



ประวัติดอกกุหลาบ  

           กุหลาบเป็นดอกไม้ที่นิยมปลูกมาแต่โบราณ ว่ากันว่ากุหลาบเกิดขึ้นเมื่อ 70 ล้านปีมาแล้ว และเคยมีการค้นพบฟอสซิลของกุหลาบที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแต่ก่อนกุหลาบนั้นเป็นกุหลาบป่าและมีรูปร่างไม่เหมือนในทุกวันนี้ แต่เนื่องจากมนุษย์ได้นำเอากุหลาบป่ามาปลูกและผสมพันธุ์จนขยายเป็นพันธุ์ต่าง ๆ มากมาย 

          ตามประวัติศาสตร์เล่าว่ากุหลาบป่าถูกนำมาปลูกไว้ในพระราชวังของจักรพรรดิ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นราว 5,000 ปีมาแล้ว ขณะที่อียิปต์เองก็ปลูกกุหลาบเป็นไม้ดอกส่งไปขายให้แก่ชาวโรมัน เพราะชาวโรมันเป็นชาติที่รักดอกกุหลาบมาก แม้ว่าจะสั่งซื้อจากประเทศอียิปต์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังลงทุนสร้างสถานที่ขนาดใหญ่สำหรับปลูกดอกกุหลาบอีกด้วย เพราะสำหรับชาวโรมันแล้วดอกกุหลาบนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน อีกทั้งชาวโรมันถือว่าดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของความรัก เป็นทั้งของขวัญ และเป็นดอกไม้สำหรับทำมาลัยต้อนรับแขก รวมถึงเป็นดอกไม้สำหรับงานฉลองต่าง ๆ แถมยังเป็นส่วนประกอบสำหรับทำขนม ทำไวน์ และยาได้อีกด้วย 

          และเมื่อเอ่ยถึงดอกกุหลาบแล้ว หลาย ๆ คนก็คงจะนึกถึงเรื่องความรัก เพราะกุหลาบถือเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความโรแมนติก โดยมีบางตำนานเล่าว่า ดอกกุหลาบเป็นเสมือนเครื่องหมายแทนการกำเนิดของ เทพธิดาวีนัส ซึ่งเป็นเทพแห่งความงามและความรัก วีนัสเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อโฟรไดท์ ในตำนานเทพของกรีกได้กล่าวไว้ว่า น้ำตาของเธอหยดลงปะปนกับเลือดของ อคอนิส คนรักของเธอที่ถูกหมูป่าฆ่า เลือดและน้ำตาหยดลงสู่พื้นแล้วกลายเป็นดอกไม้สีแดงเข้มหรือดอกกุหลาบนั่นเอง แต่บางตำนานก็เล่าว่าดอกกุหลาบเกิดจากเลือดของ อโฟรไดท์ เองที่หยดลงสู่พื้น เมื่อเธอแทงตัวเองด้วยหนามแหลม 

          แม้จะไม่มีการบันทึกอย่างชัดเจนว่าดอกกุหลาบนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับบ้านเราตอนไหน แต่จากบันทึกของ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ว่าเห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา และในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ก็ได้มีการกล่าวถึงกุหลาบเอาไว้ และยังมีตำนานดอกกุหลาบของไทยที่เป็นบทละครพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรื่อง มัทนะพาธา ในเรื่องเล่าถึงเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ "มัทนา" ซึ่งได้มีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "สุเทษณะ" ซึ่งพระองค์ทรงหลงรักเทพธิดา "มัทนา" มาก แต่นางไม่มีใจรักตอบ จึงถูกสาปให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ จึงกลายเป็นตำนานดอกกุหลาบแต่นั้นมา 



ความหมายดอกกุหลาบ

          โดยดอกกุหลาบนั้นสามารถสื่อความหมายได้หลายอย่าง อาทิ 
สีกุหลาบสื่อความในใจ

          สีแดง สื่อความหมายถึง "รักคุณเข้าแล้ว" ความรักและความปรารถนา เป็นดอกไม้ของกามเทพ คิวปิด และอีรอส เป็นสิ่งนำโชคนำความรักมาให้แก่หญิงหรือชายที่ได้รับ 

          สีชมพู สื่อความหมายถึง "ฉันจะรักและดูแลคุณตลอดไป" ความรักที่มีความสุขอย่างสมบูรณ์ 

          สีขาว สื่อความหมายถึง "ฉันรักคุณด้วยความบริสุทธิ์ใจ" ความมีเสน่ห์ ความบริสุทธิ์ มิตรภาพ และความสงบเงียบ และนำโชคมาให้แก่หญิงหรือชายเช่นเดียวกับกุหลาบแดง 

          สีเหลือง สื่อความหมายถึง "เราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอนะ" 

          สีส้ม สื่อความหมายถึง "ฉันรักคุณเหมือนเดิมนะ"

ดอกพุทธรักษา

ดอกพุทธรักษา ดอกพุทธรักษา ดอกไม้วันพ่อ ดอกไม้สัญลักษณ์วันพ่อแห่งชาติไทย ชื่อพื้นเมือง  :   พุทธรักษา ชื่อวิทยาศาสตร์   :   Canna...